อุปกรณ์ช่วยฟังหรือเครื่องช่วยฟัง (Stethoscope) คือ เครื่องขยายเสียงขนาดเล็กที่สามารถใส่ติดไว้ที่หู เพื่อทำหน้าที่ขยายเสียง จากภายนอกทำให้ผู้ฟังรับรู้เสียงได้ดีขึ้น เครื่องช่วยฟังถือเป็นอุปกรณ์ช่วยการได้ยิน (Hearing devices) ชนิดหนึ่งสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ทำให้การรับฟังเสียงดีขึ้น สามารถโต้ตอบสื่อความหมายด้วยการฟังและการพูด ดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม
✿ เครื่องช่วยการรับรู้ด้วยการสั่นสะเทือน (Vibro-tactile hearing aid) สำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยินอย่างมากจนไม่สามารถรับรู้ด้วยการได้ยินโดยเฉพาะผู้ที่หูพิการและมีปัญหาทางสายตา(หูหนวก-ตาบอด) เครื่องจะแปลงสัญญานเสียงให้เป็นความรู้สึกสั่นสะเทือนแทน ผู้ใช้จะต้องฝึกฝนการรับรู้ เพราะข้อมูลที่ได้มีความจำกัด โดยเฉพาะ น้ำเสียงและวรรณยุกต์ ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีของการผ่าตัดหูชั้นในเทียม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรับรู้เสียงได้ดีกว่า
✿ การผ่าตัดหูชั้นในเทียม (Cochlear Implant) เป็นเครื่องช่วยการได้ยินอีกชนิดหนึ่งซึ่งจะต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์เข้าไปในอวัยวะรับเสียงในหูของผู้ป่วยหูพิการซึ่งไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์ดังกล่าวจะแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่จะสามารถกระตุ้นเซลล์ขนภายในอวัยวะรับเสียงให้สามารถทำหน้าที่ได้ดีขึ้น หลังจากทำการผ่าตัดฝังอุปกรณ์แล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพการฟัง และการพูดโดยเฉพาะในเด็กที่หูพิการแต่กำเนิด เนื่องจากเสียงที่ผู้ป่วยได้ยินจะไม่เหมือนกับที่คนปกติรับรู้ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้กำลังเป็นที่สนใจของนักวิชาการและผู้ป่วยที่หูหนวก เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาได้ยินอีกครั้ง สำหรับเด็ก ก็จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาและการพูด สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้โดยไม่ต้องใช้ภาษามือ หากได้รับการผ่าตัดและการฟื้นฟูที่ถูกต้อง เหมาะสม
✿ เครื่องกลบเสียงรบกวน (Tinnitus masker) เป็นเครื่องที่ปล่อยเสียงรบกวนที่คลื่นความถี่เฉพาะเพื่อกลบเสียงรบกวนในผู้ป่วยซึ่งประสบกับปัญหาเสียงรบกวนในหูตลอดเวลาในขณะที่มีการได้ยินปกติ แต่จะไม่มีการขยายเสียง ลักษณะของตัวเครื่องจะเหมือนกับเครื่องช่วยฟังแบบใส่ในช่องหู
เครื่องช่วยการได้ยิน แต่ละแบบจะมีหลักการในการใช้งานแตกต่างกัน ถึงแม้จะมีจุดประสงค์ในการช่วยให้ผู้ป่วยหูพิการได้ยินดีหรือรับรู้ได้ขึ้นเหมือนกัน แต่ก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย เครื่องช่วยความพิการที่ใช้กันมากคือ เครื่องช่วยฟัง
การใช้เครื่องช่วยฟังให้เกิดผลดีสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ควรอยู่ในความดูแลของโสตแพทย์และนักโสตสัมผัสวิทยา เนื่องจากสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินในผู้ป่วยแตกต่างกันไป บางรายสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้ยาหรือการผ่าตัด อาจไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง นอกจากนั้น คุณสมบัติและรายละเอียดของเครื่องช่วยฟังที่มีอยู่ในปัจจุบันมีมากมายหลายอย่าง ซึ่งผู้ป่วยควรทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจ มิฉะนั้น ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟังเท่าที่ควรหรืออาจเป็นอันตรายทำให้สูญเสียการได้ยินมากขึ้น ผู้ป่วยที่จะได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยฟังควรมีคุณสมบัติดังนี้
1. การรับฟังเสียงดีขึ้น สามารถโต้ตอบสื่อความหมายด้วยการฟังและการพูด ดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม
2. ผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินและมีเสียงดังรบกวนในหู เมื่อใส่เครื่องช่วยฟังแล้ว นอกจากการฟังจะดีขึ้น เสียงรบกวนในหูมักจะลดลงหรือหายไป
3. การใส่เครื่องช่วยฟังจะช่วยรักษาหน้าที่ของหูให้คงไว้ สำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยินเป็นเวลานานๆ หากไม่ได้รับการฟื้นฟู ความสามารถในการเข้าใจคำพูดจะลดลงทีละน้อย จนฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการใช้เครื่องช่วยฟัง เพราะผู้ป่วยจะได้ยินแต่เสียงที่ถูกขยายให้ดังขึ้น แต่ไม่สามารถจำแนกรายละเอียดของเสียงนั้นๆได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินที่แพทย์ไม่สามารถรักษาได้อีกแล้ว ควรใส่เครื่องช่วยฟังที่เหมาะสม เพื่อคงสภาพการฟัง
1. เครื่องช่วยฟังแบบพกกระเป๋า (Pocket aid ) เครื่องชนิดนี้มีขนาดใหญ่ ผู้ใช้มักเหน็บตัวเครื่องไว้ที่กระเป๋า มีสายต่อจากตัวเครื่องเข้าสู่หูฟัง
ข้อดี :
✿ เครื่องมีขนาดใหญ่ จับเหมาะมือ ปรับง่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ
✿ ราคาถูก หากการสูญเสียการได้ยิน2 ข้างเท่ากันสามารถใช้เครื่องเดียว โดยต่อสายแยกเข้าสองหู
✿ มีกำลังขยายมาก เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยินอย่างรุนแรง
✿ แบตเตอรี่หาซื้อง่าย
ข้อเสีย :
✿ ต้องมีสาย รุงรัง จำกัดการเคลื่อนไหว
✿ การฟังเสียงไม่เป็นธรรมชาติ เนื่องจาก ไมโครโฟนรับเสียงอยู่ที่บริเวณหน้าอก ไม่
✿ สามารถแยกทิศทางของเสียงได้ บางครั้งมีเสียงเครื่องเสียดสีกับเสื้อผ้าอีกด้วย
✿ ทำให้เห็นความพิการได้ชัดเจน
2. เครื่องแบบทัดหลังใบหู (Behind the ear hearing aid) ( Earette) เครื่องชนิดนี้มีขนาดเล็ก
ตัวเครื่องเรียวโค้งเกาะอยู่ที่บริเวณหลังหู
ข้อดี :
✿ การฟังเสียงเป็นธรรมชาติ เพราะไมโครโฟนอยู่ที่บริเวณหู
✿ ไม่เกะกะรุงรัง เพราะไม่ต้องมีสาย
✿ สามารถใช้กับผู้ที่สูญเสียการได้ยินน้อยจนถึงสูญเสียการได้ยินรุนแรง
ข้อเสีย :
✿ ผู้ป่วยต้องคลำหาปุ่มซึ่งมีขนาดเล็ก หากต้องการปรับระดับเสียง
✿ ค่าใช้จ่ายสูงกว่า หากหูเสียทั้ง 2 ข้าง ต้องใส่ 2 เครื่อง
✿ ต้องใช้แบตเตอรี่เฉพาะของเครื่องช่วยฟัง ( ขนาด 1.4 โวลท์ )
3.เครื่องชนิดสั่งทำขนาดเล็กใส่ในหู ( Custom- made hearing aid ) แบ่งเป็น 3 ขนิด ได้แก่
3.1 In The Ear hearing aid ( ITE )
3.2 In The Canal hearing aid ( ITC)
3.3 Complete In the Canal hearing aid (CIC)
ข้อดี :
✿ การฟังเสียงยิ่งเป็นธรรมชาติ เพราะไมโครโฟนอยู่ในหู
✿ เห็นความพิการน้อยลง โดยเฉพาะ CIC แทบจะไม่เห็นเลย
ข้อเสีย :
✿ เครื่องมีขนาดเล็ก ปรับยาก
✿ ต้องสั่งทำเฉพาะบุคคล ราคาสูง
✿ ใช้ได้เฉพาะผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินไม่มาก ( < 70 dB)
✿ ต้องใช้แบตเตอรี่เฉพาะของเครื่องช่วยฟัง (ขนาด 1.4 โวลท์ )
4. เครื่องช่วยฟังชนิดแว่นตา (Eyeglasses hearing aid) ในปัจจุบันไม่มีการใช้ เนื่องจาก ราคาแพง การประกอบเครื่องยุ่งยากต้องประสานงานกับร้านแว่น หากเครื่องชำรุดต้องส่งซ่อมทั้งชุด
5. เครื่องช่วยฟังแบบรับเสียงข้ามหู ( Contralateral Routing Of Signal ) ( CROS hearing aid) สำหรับผู้ที่หูหนวกข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งปกติ ซึ่งจะมีปัญหาในการแยกทิศทางของเสียง การใส่เครื่องช่วยฟังในข้างหูหนวกจะไม่เกิดประโยชน์เพราะเครื่องช่วยฟังมีกำลังขยายที่จำกัด ดังนั้น การใส่ไมโครโฟนติดไว้ที่หูข้างหนวก เพื่อดักเสียงจากหูข้างนั้น แล้วส่งต่อไปที่หูข้างปกติ ทำให้รับรู้ที่มาของเสียงนั้นได้ ลักษณะของเสียงจากหูข้างเสียจะเป็นเสียงที่ผ่านไมโครโฟนในขณะที่หูข้างปกติจะได้ยินเสียงที่เป็นธรรมชาติ
จะเห็นได้ว่า เครื่องช่วยฟังมีหลายแบบ แต่ละแบบมีข้อดี - ข้อเสียแตกต่างกัน และในปัจจุบันมีการนำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ ระบบดิจิตอล มาใช้เพื่อให้คุณภาพของเสียงดียิ่งขึ้น ทำให้ราคาของเครื่องช่วยฟังแตกต่างกันอย่างมากตั้งแต่ 5,000 - 60,000 บาท อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินควรได้รับคำแนะนำจากนักโสตสัมผัสวิทยา เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับภาวะการสูญเสียการได้ยินของแต่ละคน ความเหมาะสมในการเลือกแบบของเครื่องช่วยฟัง ซึ่งจะต้องผ่านการประเมินการใช้เครื่องที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องช่วยฟังนั้นเหมาะกับแต่ละคน รวมทั้งการเรียนรู้การใช้ การดูแลรักษาเครื่อง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเครื่องขัดข้อง และการติดตามผลการใช้เครื่องเป็นระยะๆ เพราะเครื่องช่วยฟังมิได้รักษาโรคหู เป็นเพียงช่วยให้ท่านรับฟังเสียงได้ดีขึ้นเท่านั้น โรคหูที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินบางอย่างไม่สามารถรักษาได้ หรือในขณะใช้เครื่องอาจเกิดโรคหูอย่างอื่นแทรกซ้อน อาจจะทำให้หูเสียมากขึ้น ความสามารถในการฟังเสียงลดลง อาจต้องพบแพทย์เพื่อพิจารณารักษาหรือทำการปรับเครื่องใหม่ให้เหมาะกับการสูญเสียการได้ยินที่เปลี่ยนไป