ปวด บวม ช้ำ (Brunt Trauma) เป็นอาการบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง เนื่องจากเส้นเลือดฝอยแตกจนเกิดเลือดสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ รอยช้ำเป็นอาการที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย อาการเริ่มต้นมักเป็นสีแดง ปวดและ/หรืออาจมีอาการบวมร่วมด้วย จากนั้นจะค่อยๆ คล้ำขึ้นหรือเป็นสีม่วงเข้มภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการแดงขึ้น หลังจากนั้นอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เขียวหรือสีอื่นๆ เช่น น้ำตาล น้ำตาลอ่อน หลังผ่านไปจาก 2-3 วัน แสดงถึงการคั่งของเลือดเสียในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อรอยช้ำเริ่มจางลงแต่รอยสีดังกล่าวจะค่อยๆ จางไปเมื่อเวลาผ่านไป รอยช้ำที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปจะมีอาการกดเจ็บและบางครั้งอาจสร้างความเจ็บปวดในช่วง 2-3 วันแรก แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและอาการเจ็บจะหายไปพร้อมกับสีที่จางลง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกายเมื่อถูกกระแทก ถูกชน หรือถูกต่อย ทำให้มีเลือดออกในชั้นใต้ผิวหนังมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความแรงที่มากระทบ
1. Acute injury ซึ่งเป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากได้รับอุบัติเหตุหรือแรงกระทำที่มากพอจะทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นมาในทันทีและมักมีอาการบวมตามมา โดยจะบวมจะเกิดขึ้นมากที่สุดหลังจากได้รับบาดเจ็บประมาณ 2-3 ชั่วโมง การบาดเจ็บเฉียบพลันที่พบบ่อย ได้แก่ กระดูกหัก เส้นเอ็นฉีกขาดข้อเคลื่อน บาดแผล ฟกช้ำ
2. Overuse injury เป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับอุบัติเหตุหรือแรงมากระทำซ้ำๆ (repetitive injury) โดยแต่ละครั้งมีความรุนแรงไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมาทันที ร่างกายจะมีการซ่อมแซมและปรับสภาพ แต่เนื่องจากได้รับบาดเจ็บต่อเนื่องซ้ำๆ จนร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมได้ทัน จะทำให้เกิดอาการตามมาภายหลัง ดังนั้นปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดการบาดเจ็บชนิดนี้คือ ความรุนแรงและความถี่ของการบาดเจ็บ ส่วนปัจจัยเสริมอื่นที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บง่ายขึ้นได้แก่ แนวของรยางค์ผิดปกติ (malalignment) , กล้ามเนื้อไม่สมดุล (muscle imbalance) การฝึกฝนที่ผิดและการใช้อุปกรณ์ผิดประเภท สาเหตุเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้เกิดภาวะบาดเจ็บนี้ได้ การบาดเจ็บชนิดนี้พบได้บ่อยในระหว่างการฝึกฝนกีฬา (training)
จัดวางเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ในบ้านให้เรียบร้อย ไม่ให้กีดขวางทางเดินหรือประตู ควรระมัดระวังให้มากเมื่อในบ้านมีผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก
ควรระมัดระวังอยู่ ในกรณีที่พื้นเปียกไม่ว่าจากการทำความสะอาด ทำงานบ้านหรือฝนตก ควรดูพื้นว่าแห้งดีหรือไม่ เพราะอาจทำให้ลื่นล้มได้
ในทางเดินส่วนต่างๆในบ้าน ควรจัดสรรให้มีแสงสว่างที่เพียงพอ
สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายในขณะเล่นกีฬา สำหรับส่วนที่สำคัญต่างๆ ตามบริเวณข้อพับต่างๆ
หากแพทย์สั่งจ่ายยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ และอาจมีการปรับการใช้ยาเมื่อจำเป็น
เอกสารอ้างอิง
▶ กิติพงษ์ ขัติยะและคณะ.(มปป.) สุขภาพเพื่อการดำรงชีวิต : เอกสารประกอบการสอนวิชา ศท 013. หลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลยแม่โจ้.
▶ ชูศักดิ์ กิจคุณาเสถียร.[ออนไลน์]. การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา . แหล่งที่มา : med.mahidol.ac.th [29 มิถุนายน 2558].