หน้าหลัก     ปัญหาสุขภาพ     สาระน่ารู้

ต้อกระจก (Cataract)

 รู้จักกับต้อกระจก... 

 
     ต้อกระจก เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดจากการเสื่อมของโปรตีนซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่น โดยปกติเลนส์ตาจะมีลักษณะใสทำหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี เมื่อเกิดต้อกระจก จอประสาทตาจะรับแสงได้ไม่เต็มที่ ทำให้สายตาพร่ามัวเหมือนมองผ่านกระจกฝ้า ยิ่งแก้วตาขุ่นมากขึ้น การมองเห็นจะลดน้อยลงตามลำดับ ทั้งนี้ ต้อกระจกจะไม่มีอาการอักเสบหรือเจ็บปวดใดๆ และมักจะพบในผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุที่เป็นต้อกระจก ในช่วง
อายุระหว่าง 55 - 64 ปี จะพบได้ 40% ส่วนช่วงอายุ 65 - 74 ปี จะพบได้ 50% และอายุมากกว่า 74 ปี พบว่าเป็นต้อกระจกมากกว่า 90% 

 รู้หรือไม่...? 

ต้อกระจก ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่ลุกลามจากตาข้างหนึ่งไปอีกตาข้างหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองตา แต่รอยโรคและอาการอาจลุกลามมากน้อยไม่เท่ากัน 


 การใช้สายตามากๆ ไม่ใช่สาเหตุ ของการเกิดต้อกระจก หรือทำให้อาการที่เป็นอยู่ลุกลามมากขึ้น 


 ต้อกระจกมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนกว่าสายตาของผู้ป่วยจะขุ่นมัวจนมองเห็นไม่ชัด อาจใช้เวลานานหลายเดือน หรือหลายปี โดยทั่วไปต้อกระจกถือว่าเป็นโรคทางตาที่รักษาแล้วได้ผลดีมาก 


สาเหตุของต้อกระจก 


 สูงอายุ คือ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด แก้วตาจะขุ่นและแข็งตัวเร็วขึ้น 


 อุบัติเหตุ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดต้อกระจกได้ หากดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง โดนของมีคม สารเคมี หรือสารรังสี 


 โรคตา หรือ โรคทางร่างกายบางโรค เช่น การติดเชื้อ โรคเบาหวาน การรับประทานยาบางชนิด โรคตาบางโรค อาจจะเป็นสาเหตุหรือกระตุ้นให้ต้อกระจกขุ่นเร็วขึ้นได้ 


 กรรมพันธุ์ และความผิดปกติแต่กำเนิด ในกรณีที่พบต้อกระจกในผู้ป่วยที่เยาว์วัย เกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์ หรือจากการติดเชื้อและการอักเสบตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ 



อาการของต้อกระจก enlightened

​​ สายตามัวเหมือนมีฝ้า หรือหมอกบัง จะมัวเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นในเนื้อเลนส์แก้วตา หากเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณขอบเลนส์ ผู้ป่วยจะยังคงมองเห็นได้ชัดเจนตามปกติ 


​​​ ภาพซ้อน สายตาพร่า เกิดจากความขุ่นของเลนส์แก้วตาไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว ในผู้ป่วยบางรายจะมีสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยๆ บางรายสายตาสั้นขึ้นจนกลับมาอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น 


สู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน 


มองเห็นสีต่างๆ ผิดเพี้ยน ไปจากเดิม 


หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ 


 
ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกก่อนวัย crying

การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตเข้าตาเป็นเวลานานๆ 


โรคเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ 


โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ 


การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนบ่อยๆ 


ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กแรกเกิดที่มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ 


การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ 


 

การรักษาโรคต้อกระจก yes


     โรคต้อกระจกในระยะแรก สามารถบรรเทาได้ด้วยการตัดแว่นสายตาใหม่ สวมแว่นกันแดด หรือการใช้เลนส์ขยาย หรือ ใช้ยาหยอดตา สามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น เมื่อต้อกระจกเริ่มกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ควรทำการผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งวิธีการผ่าตัดที่เป็นที่นิยมที่สุดในปัจจุบันคือ การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Phacoemulsification ซึ่งเป็นการเจาะรูเล็กๆแล้วใช้เครื่อง ultrasound สลายเลนส์และดูดออก หลังจากเอาเลนส์ที่ขุ่นมัวออกแล้ว แพทย์จะใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทนในถุงหุ้มเลนส์เดิม (เลนส์เทียมสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต) แผลผ่าตัดก็มีขนาดเล็กมาก จึงไม่ต้องเย็บแผล ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย


  ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก

       
        1.ให้ยาระงับความเจ็บปวดด้วยการ ฉีดยาชาเฉพาะที่ หรือเพียงใช้วิธีการหยอดยาชา ทั้งนี้ขึ้นอยู่ดุลยพินิจของแพทย์

       
        2.ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจะส่งผ่านพลังงานไปยังเครื่องมือซึ่งเป็นท่อเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ช่วยสลายต้อออก และดูดเอาแก้วตาที่เป็นต้อกระจกที่สลายแล้วออกมาจนหมด

       
        3.สอดแก้วตาเทียมลงไปแทนที่


  การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Phacoemulsification โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที เมื่อเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเรียบร้อย แพทย์จะเฝ้าดูอาการว่าปัญหาแทรกซ้อนใด ๆ หรือไม่


 

การดูแลตนเองหลังผ่าต้อกระจก enlightened

     
     1.หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยควรนอนพักให้มากที่สุด 

     
     2.ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การยกของหนักหรือกระเทือนมาก การออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงการไอหรือจามแรงๆ 

     
     3.ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและใช้ยาต่างๆ ให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง 

     
     4.เช็ดหน้าโดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้งแทนการล้างด้วยน้ำ 

     
     5.ห้ามขยี้ตาข้างที่ทำการผ่าตัดเด็ดขาด ผู้ป่วยควรใช้ที่ครอบตาพลาสติกปิดตาเอาไว้ 

     
     6.สวมแว่นตากันแดดทุกครั้งเมื่อออกไปในที่แสงจ้า

     
     7.ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จนกว่าแผลจะหายดีและปลอดภัยแล้ว แต่ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

วิธีป้องกันการเกิดต้อกระจก


     ● หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ 


     ● ระวังอย่าให้ดวงตาถูกกระทบกระแทก ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อดวงตากรณีทำงาน เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงาน


     ● ควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต


     ● พักสายตาเป็นระยะหากต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน

     
     
● งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัด


     ● นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ 


     ● การใช้ยาหยอดตาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้


     ● ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี 

เอกสารอ้างอิง 

• Mahidol University. Lens and Cataract. available online : 


https://med.mahidol.ac.th/eye/sites/default/files/public/doc/lens%20and%20cataract.pdf 

• Bumrungrad International Hospital. Cataract. available online : 
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/cataract-eye 
• Newell F.W., Ophthalmology Principles and Concept 6th ed. Chapter 19, CV Mosby 1986 
• American Academy of Ophthalmology, Basic & Clinical Science Course Section 11 – Cataract & 
Lens 

 

BACK