ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่ส่วนหน้าของบริเวณลำคอใต้ลูกกระเดือก และติดกับหลอดลม มีลักษณะคล้ายผีเสื้อ โดยต่อมไทรอยด์จะทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนไทโรซีน (Thyroxine - T4) และฮอร์โมนไทรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine - T3) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการเผาผลาญของร่างกายและฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนของเลือด ซึ่งถ้าหากเกิดความผิดปกติจนทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ฮอร์โมนไทโรซีน และฮอร์โมนไทรไอโอโดไทโรนีน ก็จะถูกผลิตออกมามากจนกลายเป็นพิษ
ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism, Overactive Thyroid) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เหงื่อออกง่าย และหงุดหงิด ฉุนเฉียว เป็นต้น ซึ่งโรคไทรอยด์อาจแบ่งได้เป็น 2 อย่างใหญ่ ดังนี้
▶ ไฮเปอร์ไทรอยด์ คือ โรคไทรอยด์ที่มีระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์มากเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายเร็วกว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายก็คือ น้ำหนักลดลงผิดปกติ ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก เหนื่อย มีประจำเดือนน้อยลง ความจำไม่ดี กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ ผมร่วง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ท้องเสีย ผิวเป็นด่างขาว มือสั่น แขนขาไม่มีแรง ตาโปน ต่อมไทรอยด์โต เป็นปื้นหนาที่ขา
▶ ไฮโปไทรอยด์ คือ โรคไทรอยด์ที่มีระดับการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่น้อยเกินไป ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำเกินไป มีการทำงานของเซลล์ในร่างกายช้ากว่าปกติ อาการที่ส่งผลต่อร่างกายคือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขี้หนาว ง่วงนอน อ่อนเพลีย ผมร่วง ผิวแห้ง ซึมเศร้า เป็นตะคริวง่าย หัวใจเต้นช้า ท้องผูก รอบตาบวม หน้าบวม ตัวบวม ต่อมไทรอยด์โต
อาการไทรอยด์เป็นพิษ ค่อนข้างคลุมเครือและคล้ายกับอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ทั้งนี้ถ้าหากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรงมากนัก ก็อาจไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาการมักไม่ค่อยแสดงออกอย่างชัดเจนมากนัก อย่างไรก็ตามอาการต่อมไทยรอยด์เป็นพิษก็ถือเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
อาการที่พบได้มากที่สุดในคนที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษ ก็คือ อาการคอพอก ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกหรือเห็นก้อนขนาดใหญ่ที่บริเวณคอ ซึ่งบางครั้งแพทย์ก็อาจสามารถตรวจพบอาการคอพอกได้ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ เช่น
▶ อารมณ์แปรปรวนวิตกกังวล หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ
▶ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว
▶ นอนหลับยาก
▶ ผู้หญิงมีรอบเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมีสีจางและมาไม่สม่ำเสมอ
▶ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและต้นแขน
▶ หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้ง/นาที โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
▶ น้ำหนักลด แต่มีความอยากอาหารมากขึ้น
ทั้งนี้หากเริ่มมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณสำคัญของปัญหาสุขภาพอื่นๆ หรือเกิดจากเนื้องงอกที่บริเวณต่อมหมวกไตได้ หากปล่อยไว้จะยิ่งรักษาได้ยากมากขึ้น
ภาวะไทรอยด์เป็นพิษเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
▶ Grave's disease : เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด โดยโรคนี้จัดเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป
▶ ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodules) : เป็นสาเหตุที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยพบก้อนเนื้อเจริญบนต่อมไทรอยด์ ซึ่งมักเป็นก้อนเนื้อร้ายที่ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
▶ ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) : มีผลทำให้ฮอร์โมนที่เก็บอยู่ในต่อมไทรอยด์รั่วออกมาได้
▶ การได้รับไอโอดีนมากเกินไป : ไอโอดีนสามารถพบได้ในยาบางชนิด สาหร่ายทะเล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสาหร่ายทะเล อาหารทะเล เป็นต้น การบริโภคไอโอดีนมากเกินความจำเป็น ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติได้
▶ ได้รับยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป : สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ที่รับประทานยากลุ่มฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป
โดยส่วนใหญ่แล้ว หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะน้อย แต่ถ้าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็อาจพบกับภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ เช่น
▶ ปัญหาสายตา พบได้ในผู้ป่วยโรคเกรฟส์เท่านั้น ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยปัญหาสายตาที่เป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ตาแห้ง ตาไวต่อแสง ตาแฉะ เห็นภาพซ้อน ตาแดง หรือบวม ตาโปนออกมามากว่าปกติ และบริเวณเปลือกตาแดง บวม เปลือกตาปลิ้นออกมาผิดปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วอาการทางสายตาจะดีขึ้นเมื่อโรคไทรอยด์เป็นพิษได้รับการรักษา แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องสูญเสียการมองเห็น ดังนั้นในการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยอาจต้องพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาควบคู่กันไปด้วย
▶ ปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนที่มักเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษก็คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจเต้นเร็ว หรือโรคหัวใจเต้นผิดปกติที่เกิดจากการสั่นที่หัวใจห้องบน (Atrial Fibrillation) หรือแม้แต่ภาวะหัวใจวาย ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ แต่ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้จะบรรเทาลงหากรักษาได้อย่างถูกต้อง
▶ ภาวะไทรอยด์ต่ำ หลายครั้งการรักษาไทรอยด์เป็นพิษก็อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติจนเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกหนาวและเหนื่อยง่าย น้ำหนักขึ้นผิดปกติ มีอาการท้องผูก และมีอาการซึมเศร้า ทว่าอาการจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และมีผู้ป่วยเพียงบางรายเท่านั้นที่เกิดอาการโดยถาวรและต้องใช้ยาในการควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต
▶ กระดูกเปราะบาง โรคไทรอยด์เป็นพิษ หากไม่ได้รับการรักษาสามารถส่งผลเสียต่อมวลกระดูก ทำให้กระดูกอ่อนแอ หรือกลายเป็นโรคกระดูกพรุนเนื่องจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากไปจะส่งผลต่อความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมของกระดูกได้
▶ ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤต หากมีการควบคุมระดับไทรอยด์ที่ไม่ดี อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งสัญญาณที่บอกว่าไทรอยด์เป็นพิษเข้าขั้นวิกฤตคือ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ท้องเสีย อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง มีอาการสับสนมึนงงอย่างรุนแรง และอาจถึงขั้นหมดสติได้ โดยสาเหตุที่อาจทำให้อาการเข้าสู่ภาวะวิกฤต ได้แก่ การติดเชื้อ การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ การตั้งครรภ์ และความเสียหายของต่อมไทรอยด์ โดยภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ไม่เพียงเท่านั้น ในกลุ่มสตรีที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ โรคไทรอยด์เป็นพิษอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น
▶ ครรภ์เป็นพิษ
▶ อาการแท้ง
▶ คลอดก่อนกำหนด
▶ เด็กทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ
ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีการวางแผนว่าจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนในการควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนวิธีการรักษาให้เหมาะสมต่อไป