การอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจาก เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการขึ้นมา มักจะเกิดในผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะสั้น และรูเปิดของท่อปัสสาวะอยู่ใกล้ทวารหนัก จึงทำให้เชื้อสามารถเข้าไปในท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ ส่วนใหญ่พบในหญิงวัยเจริญพันธ์แต่ก็สามารถพบได้ในเด็ก การมีเพศสัมพันธ์จะทำให้เชื้อเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ เมื่อเชื้อเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะและแบ่งตัวมากกว่าถูกขับออกไปจึงทำให้เกิดโรคได้
อาการที่เกิดขึ้นเป็นอย่างแรกและเด่นชัดที่สุด คือ รู้สึกปวดปัสสาวะมากและบ่อย แต่เมื่อไปเข้าห้องน้ำกลับถ่ายปัสสาวะได้เพียงปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น และตามมาด้วยอาการเจ็บอย่างรุนแรง บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาในปัสสาวะได้ อาจมีอาการปวดท้องน้อยรวมทั้งอาการครั่นเนื้อครั่นตัวร่วมด้วย
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis หรือ Lower urinary tract infection) คือ โรคที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง โดยพบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยทั่วไปพบสูงในช่วงอายุ 20 - 50 ปี พบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายมาก ทั้งนี้อธิบายได้จากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าของผู้ชายมาก เชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะจึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า นอกจากนั้นปากท่อปัสสาวะของผู้หญิงยังเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อทั้งจากช่องคลอดและจากทวารหนักได้สูงกว่าในผู้ชาย
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบได้ทั้งจากการอักเสบเฉียบพลันที่มีอาการเกิดทันทีและรักษาหายได้ภายใน 2 - 3 สัปดาห์ หรือจากการอักเสบเรื้อรังซึ่งมักมีอาการอักเสบเป็นๆหายๆเรื้อรัง แต่มีอาการรุนแรงน้อยกว่าการอักเสบเฉียบพลัน
★ ผู้หญิง
★ ผู้สูงอายุ เพราะสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ขาดคนดูแล
★ การกลั้นปัสสาวะนานๆ
★ ดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะจึงแช่ค้างหรือกักคั่งในกระเพาะปัสสาวะ แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ดี
★ โรคเบาหวาน เป็นโรคก่อการอักเสบติดเชื้อของเนื้อเยื่อต่างๆได้ง่าย รวมทั้งของกระเพาะปัสสาวะ
★ โรคที่ต้องนั่งๆนอนๆตลอดเวลา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์/อัมพาต ส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้างอยู่นานในกระเพาะปัสสาวะ
★ การใช้สายสวนปัสสาวะ โดยเฉพาะต้องคาสายสวนปัสสาวะนานๆหรือตลอดเวลา เพราะกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะจะเกิดการบาดเจ็บจากสายสวนนั้น จึงติดเชื้อได้ง่าย
★ มีโรคเรื้อรังของท่อปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะตีบจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงมักมีปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้เร็ว
★ โรคติดเชื้อของไต โรคนิ่ว ทั้งนิ่วในไตและนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
★ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
★ หญิงตั้งครรภ์ เพราะการกดเบียดทับของครรภ์ต่อกระเพาะปัสสาวะมักก่อปัญหาปัสสาวะไม่หมด
★ ใช้สเปรย์ดับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ เพราะจะก่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะ และปากช่องคลอด เพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บและการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ
★ ผู้หญิงที่ใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ หรือการใช้ฝา/หมวกครอบปากมดลูก (Cervical diaphragm) เป็นสาเหตุก่อการระคายเคืองและบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
★ ในผู้ชาย มักพบสัมพันธ์กับต่อมลูกหมากโตและ/หรือต่อมลูกหมากอักเสบ ส่งผลให้ปัสสาวะไม่หมด
เอกสารอ้างอิง
• ศ.เกียรติคุณ นพ.ธงชัย พรรณลาภ. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. [Internet]. เข้าถึงได้จาก:
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=9
• รศ.นท.ดร.สมพลเพิ่มพงศ์โกศล. การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ. [Internet]. เข้าถึงได้จาก:
https://med.mahidol.ac.th/surgery/sites/default/files/public/pdf/Urinary%20tract%20infection.pdf
• แพทย์หญิงวิกานดา รัตนพันธ์. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) : การรักษา ประเภท อาการ สาเหตุ. [Internet].
เข้าถึงได้จาก: https://bupa.co.th/cystitis-0131/