หน้าหลัก     ปัญหาสุขภาพ     สาระน่ารู้

สตรีวัยทอง (Menopause)


เช็คอาการเข้าข่าย “วัยทอง” หรือยัง…?


     สตรีวัยทอง หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน (Menopause) คือ วัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจเกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศจากรังไข่ ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนติดต่อกัน 1 ปี โดยพบได้ในช่วงอายุ 45-55 ปี หรือในสตรีที่ได้รับผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายคล้ายๆ คนหมดประจำเดือน


วัยทอง คืออะไร...? enlightened


     วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ในผู้หญิงจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี โดยเฉลี่ยอายุ 50 ปี เมื่อถึงวัยนี้ รังไข่จะหยุดทำงาน และไม่มีการตกไข่อีกต่อไป ทำให้ไม่มีประจำเดือนและไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่อีก ฮอร์โมนเพศหญิงที่ขาดหายไปนี้มีชื่อว่า เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน จึงทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจต่างๆ ตามมา อาการของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นรู้จักกันโดยทั่วไปว่า เลือดจะไปลมจะมา“สตรีวัยทอง” ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เนื่องจาก รังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวรร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ


อาการของสตรีวัยทอง 


 ประจำเดือนมาน้อยวันและไม่สม่ำเสมอ


 ร้อนวูบวาบตามร่างกายโดยเฉพาะส่วนบนของร่างกาย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน บางคนมีอาการหนาวสั่นโดยไม่มีสาเหตุ


 ผิวหนังจะบางลง แห้งและเกิดเป็นแผลได้ง่าย มีอาการคันตามผิวหนัง และผิวหนังเกิดผื่นแพ้ง่าย


 เส้นผมจะหยาบแห้งและบางลง หลุดร่วงได้ง่าย ไม่ดกดำเป็นเงางาม


 ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ ปวดตามข้อและกระดูก


 มีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เร็ว เครียดง่าย หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ โกรธง่าย ใจน้อย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก บางคนหลงลืมง่าย เวียนศีรษะ ซึมเศร้า


 นอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ


 ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น น้ำหล่อลื่นน้อยลง เกิดความเจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์


 ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้


 ภัยเงียบที่พบในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว ได้แก่ โรคกระดูกพรุน (ซึ่งการสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างมากจนทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน จะทำให้เกิดกระดูกหักง่ายแม้หกล้มเพียงเล็กน้อย) โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง


การเตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง yes


     ไม่ว่าใครก็ต้องเข้าสู่ช่วงวัยทอง การเตรียมตัวรับมือก่อนการเปลี่ยนช่วงวัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ โดยสามารถรับมือง่ายๆได้ ดังนี้


 ละเว้นจากพฤติกรรมบั่นทอนสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การเสพสิ่งเสพติด ของมึนเมา


 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทุกหมู่ แต่ผู้สูงอายควรลดอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจาก จะทำให้ไตเสื่อมสภาพ แล้วยังต้องทำงานหนักเกินไป ลดของหวาน ของมัน เนื่องจากทำให้หลอดเลือดเก่าๆ อุดตันได้ง่ายขึ้น เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล และยังช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ดีขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่


 เสริมแคลเซียม ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภทถั่ว งา ผักใบเขียว ปลาเล็ก ปลาน้อย นมและผลิตภัณฑ์ของนมพร่องมันเนย หรือจะรับประทานยาเม็ดแคลเซียมแทนก็ได้ แต่มีข้อพึงระวังในผู้ที่เป็นโรคไต ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อน


 ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย หัวใจเต้นเร็วขึ้น ข้อสำคัญ คือ ความสม่ำเสมอ


 ควรพักผ่อนจากภาระงานประจำ และมีกิจกรรมพื่อคลายเครียดบ้าง


 ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งโดยพื้นฐาน ควรจะได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ ตรวจเลือด เช็คเบาหวาน และไขมันในเลือด ผู้หญิงควรได้รับการตรวจเต้านมและตรวจภายใน พร้อมกับเช็คมะเร็งปากมดลูก ในรายที่มีโรคประจำตัว

ผลดีของฮอร์โมนทดแทน enlightened


     ช่วยรักษาอาการต่างๆ ของภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน อาการที่สำคัญได้แก่ อาการร้อนวูบวาบและลดการสูญเสียมวลกระดูก จึงช่วยป้องกันภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน นอกจากนี้ ยังรักษาอาการช่องคลอดแห้งที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผลเสียของฮอร์โมนทดแทนที่อาจเกิดขึ้น enlightened


     อาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด คัดตึงเต้านม น้ำหนักเพิ่ม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ขาบวม เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดดำอุดตัน และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 ปี

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมน no

  1. 1. ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก
  2. 2. ผู้ที่เป็นโรคตับ
  3. 3. ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า
  4. 4. ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

BACK