เครื่องดูดเสมหะ (Suction Machine)
เครื่องดูดเสมหะ หรือ Suction Machine อุปกรณ์ที่ใช้แรงดูดในการดึงเสมหะเหนียวข้นให้ออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับผู้ป่วยไอขับเสมหะออกเองไม่ได้ หรือเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ช่วยผู้ป่วยที่มีปริมาณเสมหะอุดกั้นภายในทางเดินหายใจ มากสบายตัวขึ้น ควรใช้เมื่อจำเป็น เช่น มีการไอ หายใจติดขัด มีเสมหะ ความเข้มข้นออกซิเจนต่ำลง
ตัวเครื่องดูดเสมหะที่ได้มาตรฐาน จะออกแบบให้ป้องกันน้ำและแบคทีเรีย ทำให้ปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย เลือกสายดูดเสมหะขนาดที่เหมาะสม และทำตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรที่มีประสบการณ์การใช้เครื่องมือประเภทนี้
วิธีการใช้เครื่องดูดเสมหะ
แบ่งเป็น 2 แบบขึ้นกับผู้ป่วยสะดวกที่จะดูดเสมหะทางไหน
1. ดูดเสมหะทางปาก
เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ทำความความสะอาดมือ ใส่ถุงมือยางสำหรับตรวจโรคทั่วไป จัดท่าผู้ป่วยให้เหมาะสม ดูดเสมหะเป็นระยะ ให้จังหวะผู้ที่ดูดเสมหะได้พักหายใจบ้าง คอยสังเกตอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอ
- เตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อม และทดสอบแรงดันของเครื่องดูดเสมหะ
- ล้างมือให้สะอาด
- บอกให้ผู้สูงอายุรับทราบ
- ใส่ถุงมือตรวจโรค หยิบสายดูดเสมหะต่อเข้ากับเครื่อง โดยมือข้างถนัดจับปลายสาย และอีกข้างจับสายระบายเสมหะ ระวังไม่ให้สายยางดูดเสมหะสกปรก หรือสัมผัสกับสิ่งอื่นๆ
- เปิดเครื่องดูดเสมหะ บอกให้ผู้สูงอายุทราบอีกครั้ง
- เปิดบริเวณข้อต่อตัววาย (Y - tube) หรือพับสายยางดูดเสมหะนั้นไว้ พร้อมสอดสายยางเข้าช่องปาก ด้วยความนุ่มนวล
- นขณะดูดเสมหะไม่ควรดูดนาน แล้วค่อยๆถอยสายยางดูดเสมหะออกอย่างเบาๆและนุ่มนวล ให้มีช่วงจังหวะหยุดพักให้ผู้สูงอายุได้หายใจหรือได้รับออกซิเจน
- ระหว่างดูดเสมหะให้สังเกตลักษณะของเสมหะ สี ปริมาณ รวมทั้งสังเกตดูว่ามีสีเลือดปนหรือไม่ สังเกตการหายใจ และสีผิวของผู้สูงอายุ
- หากผู้สูงอายุเกร็ง หรือมีฟันในช่องปาก สามารถใช้ mouth gag โดยสอดเข้าช่องปากเพื่อนำทางสายยางดูดเสมหะได้ง่าย
- เมื่อดูดเสมหะเรียบร้อยจ ล้างสายยางดูดเสมหะในน้ำสำหรับล้างสาย แล้วเก็บสายยางดูดเสมหะและถุงมือทิ้งถังขยะ
- ปิดเครื่องดูดเสมหะ
- จัดท่าผู้สูงอายุให้สุขสบาย สังเกตลักษณะของสีผิว อัตราการหายใจ และอัตราการเต้นชีพจรของผู้สูงอายุ
2. ดูดเสมหะทางหลอดทางเดินหายใจเทียม
ต้องมีความระมัดระวังเรื่องความสะอาดมากเป็นพิเศษ ถุงมือควรเป็นแบบสเตอไรด์ที่สะอาด
- เตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อม แจ้งให้ผู้สูงอายุทราบ กรณีมีเสมหะมากให้ดูแลเคาะปอดเพื่อไล่เสมหะโดยจัดท่าผู้สูงอายุตะแคงกึ่งคว่ำ
- ล้างมือให้สะอาด
- ใส่ถุงมือให้ใช้เป็นแบบถุงมือสเตอไรด์ ระวังไม่ให้สายยางดูดเสมหะสกปรก หรือสัมผัสกับสิ่งอื่นๆ โดยมืออีกข้างจับสายระบายเสมหะ
- เปิดเครื่องดูดเสมหะ บอกให้ผู้สูงอายุทราบอีกครั้ง
- เปิดบริเวณข้อต่อตัววาย (Y - tube) หรือพับสายยางดูดเสมหะนั้นไว้ พร้อมสอดสายยางลงในหลอดหายใจเทียม โดยใส่ให้ลึกจนรู้สึกติด และดึงขึ้นมาเล็กน้อยค่อยๆหมุนสายไปรอบๆ แล้วค่อยๆถอยสายยางดูดเสมหะออกอย่างเบาๆและนุ่มนวล
- การดูดเสมหะแต่ละครั้งไม่เกิน 10 วินาที เมื่อดูดเสมหะครั้งที่ 1 แล้ว ผู้สูงอายุยังมีเสียงเสมหะอยู่ ให้ผู้สูงอายุหายใจเข้าออกประมาณ 10 วินาที หรือในผู้สูงอายุที่ได้รับออกซิเจน แล้วดูดเสมหะอีกครั้ง
- ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีการเจาะคอ ควรดูดเสมหะจากหลอดทางเดินหายใจเทียมก่อน แล้วจึงดูดเสมหะในปากต่อ
- เมื่อดูดเสมหะเรียบร้อยจนทางเดินหายใจโล่ง ล้างสายยางดูดเสมหะในน้ำสำหรับล้างสาย แล้วเก็บสายยางดูดเสมหะและถุงมือทิ้งถังขยะ
- ปิดเครื่องดูดเสมหะ
- จัดท่าผู้สูงอายุให้สุขสบาย สังเกตลักษณะของสีผิว อัตราการหายใจ และอัตราการเต้นชีพจรของผู้สูงอายุ
-
แนวทางในการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องดูดเสมหะ
- งบประมาณที่ต้องการ โดยเครื่องดูดเสมหะที่วางขายจะมีให้เลือกตั้งแต่ราคา 2,500 บาท จนถึง ราคาหลักหมื่นขึ้นไป
- รูปแบบการใช้งาน ใช้ที่บ้านอย่างเดียว หรือ ถ้ามีการใช้ระหว่างการเคลื่อนย้าย เดินทาง ก็ต้องพิจารณารุ่นที่มีแบตเตอรี่สำรอง หรือ สามารถชาร์ทไฟในรถได้
- ลักษณะของคนไข้ หากคนไข้มีเสมหะที่เหนียวข้นมาก หรือ ใช้ในสถานที่ๆมีคนไข้หลายคน ต้องคำนึงเรื่องแรงดูดของเครื่องด้วย
- บริการหลังการขาย สอบถามให้ชัดเจนว่าร้านที่เราซื้อนั้น มีบริการหลังการขายหรือไม่ (โดยปกติจะมีประกัน 1 ปี) ต้องสอบถามว่าหลังหมดประกันแล้ว ต้องติดต่อให้ใครช่วยดูแล
- รายละเอียดอื่นๆ ที่อาจใช้พิจารณาในการตัดสินใจเช่น น้ำหนักของเครื่อง ระดับเสียงว่าดังแค่ไหนระหว่างดูดเสมหะ คุณภาพของวัสดุเครื่อง
-
ถึงแม้เครื่องดูดเสมหะในตลาดหลากหลายยี่ห้อนั้นจะมาจากแหล่งผลิตที่แตกต่างกันแต่ในเรื่องของการนำเข้าสินค้านั้น ผู้นำเข้าสินค้าต้องยื่นเรื่องขอใบอนุญาตนำเข้าและแสดงเอกสารรับรองมาตรฐานอยู่แล้ว จึงควรเลือกซื้อกับบริษัทนำเข้าสินค้าที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ในบทความนี้เราได้เปรียบเทียบเครื่องดูดเสมหะ เพื่อให้ครอบครัวที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อเป็นแนวทางการเลือกซื้อได้ตามงบประมาณและลักษณะการใช้งาน
ข้อควรระวัง
- กรณีผู้ป่วยมีอาการออกซิเจนน้อยลง ควรเพิ่มออกซิเจน ให้แรงดันของเครื่องดูดเสมหะที่ใช้ในการดูดเสมหะค่าที่เหมาะสม ประมาณ 80-150 มิลลิเมตรปรอท ถ้าสูงกว่านี้จะทำให้ปอดแฟบ เนื้อเยื่อขาดออกซิเจน อาจเกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุทางเดินหายใจได้
- ดูดเสมหะเมื่อจำเป็น คือ ทำเมื่อมีอาการไอ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงเสมหะ ความเข้มข้นของออกซิเจนต่ำกะทันหัน
- กรณีเสมหะไม่มาก หรือต้องการดูน้ำลายอย่างเดียวอาจจะใช้หลอดดูดน้ำลายแทนสายดูดเสมหะ
- การเพิ่มออกซิเจนให้กับผู้สูงอายุ ก่อนและหลังการดูดเสมหะ เนื่องจากในขณะดูดเสมหะจะก่อให้เกิดภาวะเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน
- เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุขณะดูดเสมหะ เช่น การเต้นของหัวใจ อาการซีด หอบเหนื่อย ความเข้มข้นของออกซิเจน
- สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการดูดเสมหะ คือ การปรับแรงดันการดูดเสมหะให้เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อป้องกันเลือดออกและการเกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุและเนื้อเยื้อต่างๆ โดยความดันที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 110–120 มม.ปรอท หรือหากเสมหะเหนียวข้นอาจเพิ่มแรงดันตามที่แพทย์แนะนำ นอกจากนั้นการเลือกสายดูดเสมหะต้องเลือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ขนาด 12-14 French ที่สำคัญควรทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
BACK