หน้าหลัก     ปัญหาสุขภาพ     สาระน่ารู้

 Lingzhi Extract (หลินจือสกัด)

     เห็ดหลินจือ จัดเป็นราชาแห่งสมุนไพรจีนที่มีการใช้มานานกว่า 4,000 ปี ทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมทั้งประเทศไทย เป็นยาอายุวัฒนะและรักษาโรคต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือในท้องตลาดมากมาย แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด?? 

ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือในท้องตลาด 

     เห็ดหลินจือ เป็นเห็ดที่พบได้ในป่าแถบทวีปเอเซีย ปัจจุบันมีการเพาะเห็ดหลินจือในหลายประเทศ การเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือจะต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 เดือน จึงจะได้ดอกเห็ด ในขณะที่ความต้องการเห็ดหลินจือมีมากทำให้มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดในถังหมักจะได้เส้นใย (mycelia) ซึ่งจะใช้เวลาน้อยกว่ามาก และสามารถควบคุมสภาวะการณ์ได้ ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณสารสำคัญมากขึ้น ซึ่งสภาวะการณ์ที่เหมาะสมคือ อุณหภูมิ 30-35oC และ pH 4-4.5 และการเติมสารอาหารกรดไขมันจำเป็น ฉะนั้นเราจะพบผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือในท้องตลาดที่จะได้จากส่วนต่าง ๆ ของเห็ดคือ ส่วนที่เป็นร่มหรือดอกเห็ด (fruity body) สปอร์ และส่วนที่เป็นเส้นใย ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นพบได้ทั้งในรูปแบบที่ไม่ได้สกัด และที่เป็นสารสกัด ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือที่ไม่ได้สกัด เช่น ส่วนที่เป็นร่มหรือดอกเห็ด (fruity body) ฝานเป็นชิ้น หรือยังคงเป็นดอกเห็ดทั้งดอก แล้วนำไปต้มกับน้ำ หรือเป็นดอกเห็ดที่บดเป็นผงบรรจุแคปซูลหรือตอกเป็นเม็ด หรือทำเป็นชาชง ส่วนสปอร์ก็จะเป็นสปอร์ที่กระเทาะเปลือกแล้วบรรจุแคปซูล หรือเป็นผงชงกับน้ำ ส่วนที่เป็นเส้นใยจะนำมาตากแห้งแล้วนำไปปรุงเป็นอาหาร ทำเป็นซุป หรือทำเป็นผงบรรจุแคปซูลหรือตอกเป็นเม็ด ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปสารสกัด จะเป็นการสกัดจากส่วนดอกเห็ดหรือเส้นใยด้วยน้ำร้อน หรือแอลกอฮอล์ แล้วทำให้แห้งบรรจุแคปซูลหรือตอกเป็นเม็ด ปัจจุบันมีการพัฒนาการสกัดโดยใช้วิธี supercritical fluid CO2 extraction ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้อุณหภูมิที่ต่ำ ไม่ต้องใช้ตัวทำละลาย (solvent) เป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

     ตามที่ทราบกันดีว่าสารสำคัญในเห็ดหลินจือจะเป็นสารกลุ่ม polysaccharides, terpenes, และสารกลุ่ม glycoproteins (อ่านรายละเอียดในบทความ "เห็ดหลินจือ…จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์") สารเหล่านี้จะพบได้ในปริมาณที่ต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์ มีงานวิจัยสำรวจผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือที่ขายในฮ่องกงพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสกัดจากดอกเห็ดจะมีปริมาณสาร polysaccharides 1.1-15.8 % และสาร terpenes ปริมาณ 0.44-7.58% ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าปริมาณสารสำคัญจะขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท 

การศึกษาความปลอดภัย 

     มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของเห็ดหลินจือสกัดทั้งการทดลองในสัตว์และในคน งานวิจัยที่ทดสอบความเป็นพิษในหนูพบว่าสารสกัดเห็ดหลินจือที่ฉีดเข้าช่องท้องมีค่า LD50 สูงถึง 38 กรัม/กิโลกรัม สารสกัดน้ำ มีค่า LD50 มากกว่า 5 กรัม/กิโลกรัม ไม่ก่อเกิดพิษต่อระบบเลือด ตับและไต การให้สารสกัดแอลกอฮอล์แก่หนูในขนาด 1.2 และ 12 กรัม/กิโลกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 30 วัน ไม่พบพิษต่อตับและการเจริญเติบโต การให้สารสกัดแอลกอฮอล์แก่สุนัขในขนาด 12 กรัม/กิโลกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 15 วัน และขนาด 24 กรัม/กิโลกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 13 วัน ไม่พบพิษ การศึกษาในผู้ป่วยชายโรคทางเดินปัสสาวะจำนวน 88 คน รับประทานสารสกัดเห็ดหลินจือขนาด 6 มิลลิกรัม ทุกวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุม และไม่พบผลข้างเคียงและความเป็นพิษต่อระบบเลือด ตับและไต แสดงว่าสารสกัดเห็ดหลินจือ (ส่วนดอก) มีความปลอดภัยในการรับประทานเป็นระยะยาว ส่วนการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสปอร์เห็ดหลินจือพบว่าค่า LD50 มากกว่า 10 กรัม/กิโลกรัม และไม่พบความเป็นพิษต่อยีน (พันธุกรรม) และอสุจิ การศึกษาในหนูพบว่าการป้อนสปอร์เห็ดหลินจือขนาด 4.5 กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 30 วัน ไม่ก่อเกิดพิษ 

การก่อการแพ้ 

     การรับประทานเห็ดหลินจือไม่พบการก่อการแพ้ แต่สปอร์ของเห็ดอาจจะทำให้แพ้ได้เช่นเดียวกับสปอร์ของเห็ด ราในอากาศ มีรายงานพบว่าผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะแพ้สปอร์มากกว่าดอกเห็ด

ผลข้างเคียง 

     การรับประทานสารสกัดเห็ดหลินจือขนาด 1.5-9 กรัม/วัน ไม่พบผลข้างเคียงอย่างรุนแรง แต่อาจจะพบว่า มีอาการง่วงนอน กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย เหงื่อออก อุจจาระเหลว หรือมีผื่นแพ้ 

ข้อควรระวัง


     สารสกัดน้ำเห็ดหลินจือมีฤทธิ์เสริมยาต้านจุลชีพ cefazolin ต่อเชื้อ Klebsiella oxytoca ATCC 8724, Bacillus subtilis ATCC 6603, Staphylococcus aureus ATCC 25923, Escherichia coli ATCC 25933 และ Salmonella typhi ATCC 6509


สรุป 

     จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือที่ไม่ได้สกัดทั้งที่ได้จากส่วนดอก สปอร์ และเส้นใยมีความปลอดภัยในการรับประทาน ในขนาด 1.87 กรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 26 สัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับขนาดการรับประทาน 112.2 กรัม ต่อวัน ของผู้ใหญ่น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม เป็นเวลา 4 เดือน แต่การรับประทานผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือจะต้องระวังในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน และผู้ป่วยที่รับประทานยาป้องกันการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ส่วนผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะต้องระวังการแพ้สปอร์ของเห็ด
 

BACK