แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อแดง เนื้อวัว เนื้อหมู ตับ หอยกาบ หอยนางรม ไข่แดง ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ลูกพีชแห้ง ถั่วต่าง ๆ ข้าวโอ๊ต กากน้ำตาล หน่อไม้ฝรั่ง ผักกูด ถั่วฝักยาว ผักแว่น เห็ดฟาง พริกหวาน ใบแมงลัก ใบกะเพรา มะกอก กระถิน เป็นต้น
สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 70 kg. ในร่างกายจะมีธาตุเหล็กประมาณ 4 กรัม แต่ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือประมาณ 10 - 15 มิลลิกรัม สำหรับหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 30 มิลลิกรัมต่อวัน
ศัตรูของธาตุเหล็ก ได้แก่ ฟอสโฟโปรตีนในไข่และสารไฟเทตในขนมปังโฮลวีตที่ไม่ได้หมักฟู โรคจากการขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เด็กมีพัฒนาการเจริญเติบโตช้า มีร่างกายอ่อนเพลีย ผิวพรรณดูไม่สดใส ผิวซีด
1. ธาตุเหล็กช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย
2. ช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียของร่างกาย
3. ช่วยเสริมความต้านทานต่อการเจ็บป่วย
4. ช่วยป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
5. ช่วยทำให้สีผิวพรรณดูเรียบเนียน
► ธาตุเหล็กในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเล อาหารกลุ่มนี้มีธาตุเหล็กสูง ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี ควรทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซี เช่น บล็อกโคลี พริก มะเขื่อเทศ ฝรั่ง ส้ม เพื่อช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุเข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น
► ธาตุเหล็กในธัญพืช ผักใบเขียว และถั่วเมล็ดแห้ง แม้ว่าจะมีธาตุเหล็กสูง แต่กลับดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ไม่ดีเท่าธาตุเหล็กในเนื้อสัตว์ สำหรับกลุ่มของเด็ก ๆ ที่ทานมังสวิรัติ จะแนะนำให้ทานพร้อมอาหารวิตามินซีสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมให้ดีมากขึ้น ส่วนเด็กๆ ทั่วไปคุณแม่สามารถเสิร์ฟเมนูง่ายๆ ให้ลูกรักทาน เช่น สปาเก็ตตี้ซอสเนื้อ ไข่เจียวหมูสับใส่มะเขือเทศ ไก่ผัดน้ำมันหอยใส่บล็อกโคลี ขนมปังเนยถั่ว กระเพาะปลาใส่เลือดหมู น้ำส้มคั้น คู่กับเครื่องดื่มธัญญาหารธาตุเหล็กสูงและวิตามินซี
► ธาตุเหล็กในอาหารเสริม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเด็ก คุณแม่ตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่กำลังให้นม ซึ่งอาจได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ธาตุเหล็กแบบเม็ดจะดูดซึมได้ดีในช่วงท้องว่าง จึงควรทานระหว่างมื้ออาหาร ส่วนในกรณีที่มีผลข้างเคียง เช่น ถ่ายมากขึ้น หรือถ่ายเหลว ควรเปลี่ยนมาทานพร้อมอาหารแทน แต่ห้ามรับประทานคู่กับนมเด็ดขาด เพราะแคลเซียมจากนมจะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง
คำแนะนำในการรับประทานธาตุเหล็ก
สำหรับปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes (Thai-RDI)) มีค่าเท่ากับ 15 มิลลิกรัม โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี จะเห็นได้ว่าร่างกายเราต้องการในปริมาณไม่มาก แต่ธาตุเหล็กจัดเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นกับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กทารก เด็กวัยรุ่น และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโต ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายซึ่งปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล เพศ อายุ
ธาตุเหล็กอินทรีย์ เช่น เฟอร์รัสกลูโคเนต เฟอร์รัสฟูเมเรต เฟอร์รัสซิเทรต เฟอร์รัสเปปโทเนต จะไม่ยับยั้งการทำงานของวิตามินอี โดยปริมาณที่จำหน่ายค่อนข้างจะหลากหลายและมากสุดถึง 320 มิลลิกรัม
ผลเสียของการรับประทานธาตุเหล็กเกินขนาด ซึ่งพบได้น้อยมากสำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ขนาดที่แนะนำให้ผู้ใหญ่รับประทานอาจเป็นอันตรายกับเด็กได้ และในขนาด 3,000 มิลลิกรัมอาจทำให้เด็กอายุ 2 ขวบถึงแก่ชีวิต
ผู้ที่รับประทานยาแอสไพริน อินโดซิน ยาแก้อักเสบทุกวัน ร่างกายควรได้รับธาตุเหล็กเสริม
สำหรับผู้ที่กำลังเป็นโรคติดเชื้อ ไม่ควรรับประทานธาตุเหล็กเสริม เพราะจะทำให้เพิ่มจำนวนของแบคทีเรียได้
สำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หากจะรับประทานธาตุเหล็กเสริม ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะเคยมีรายงานว่าเด็กมีอาการเป็นพิษจากธาตุดังกล่าวเนื่องจากมารดารับประทานธาตุเหล็กมากเกินไปในขณะตั้งครรภ์และที่สำคัญคุณคุณควรเก็บรักษาวิตามินแบบเคี้ยวที่มีธาตุเหล็กอยู่ให้ห่างจากมือเด็ก และสอนให้เด็ก ๆ รู้ว่าวิตามินเหล่านี้ไม่ใช่ขนม