ความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยว่าในภาวะปกติผู้ที่มีความดันเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หากปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในระดับนี้นานๆ อาจทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อม เช่น มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบตัน 3-4เท่า และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่าของผู้ที่มีความดันปกติ และถ้าปล่อยทิ้งไว้ความดันจะเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มิลลิเมตรปรอทต่อปี ซึ่งวัดได้ 2 ค่า ได้แก่
▶ ความดันโลหิตค่าบน คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวเต็มที่
▶ ความดันโลหิตค่าล่าง คือ แรงดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัวเต็มที่
ความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ คือ มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ไตวาย เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมอาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็น เมื่อรู้ตัวว่าเป็นส่วนมากจะไม่ได้รับการดูแลรักษา ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากไม่มีอาการ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจ เมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงจะเริ่มสนใจและรักษา ซึ่งบางครั้งก็อาจจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร การควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดโอกาสเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
ชนิดที่ทราบสาเหตุ เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นผลมาจาก ที่เป็นโรคอื่นมาก่อนและมักต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบในส่วนของช่องอก รวมถึงผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี
ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่บางรายพบว่า มีอาการ ปวดหัว เวียนหัว มึนงง เหนื่อยง่ายผิดปกติ ซึ่งหากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ แต่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อวัยวะสำคัญต่างๆในร่างกายถูกทำลาย ได้แก่ หัวใจ สมอง ไต หลอดเลือด และตา เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้นและรูเล็กลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานไม่เป็นปกติ และหากถูกทำลายรุนแรงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
โรคความดันโลหิตสูงมากกว่า 90% เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Essential Hypertension) มักพบได้บ่อยในรายที่มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง อายุมาก ส่วนใหญ่กลุ่มที่ทราบสาเหตุพบได้น้อย ซึ่งเกิดได้ในผู้ป่วยที่มีโรคอยู่แล้ว เช่น โรคไต หลอดเลือดที่ไตตีบ ครรภ์เป็นพิษ เนื้องอกบางชนิด โรคทางต่อมหมวกไต เป็นต้น
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
► กรรมพันธุ์ จากการสำรวจความถี่ในการเกิดโรค พบว่า ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสและความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่า
► เพศและอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีข้อมูลบ่งบอกว่า พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในช่วงก่อนอายุ 50 ปี แต่เมื่ออายุเลย 50 ปี ผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลง ซึ่งมีผลต่อความยืดหยุ่นของเส้นเลือด ส่วนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบความดันโลหิตสูงเท่ากันทั้ง 2 เพศ
ปัจจัยที่ควบคุมได้
► อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน
► ไขมันในเลือดสูง
► ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
► กินเค็มเป็นประจำ
► ขาดการออกกำลังกาย
► มีภาวะดื้ออินซูลินหรือเป็นเบาหวาน
▶ อายุ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้นเสมอไป
▶ เวลา ความดันโลหิตจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน
▶ จิตใจและอารมณ์ พบว่ามีผลต่อความดันโลหิตได้มาก ขณะที่ได้รับความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มิลลิเมตรปรอท ขณะที่พักผ่อนความดันโลหิตก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้
▶ เพศ พบว่าเพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง
▶ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีบิดาและมารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียด ก็ทำให้มีแนวโน้มการเป็นโรคความดันสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
▶ สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าในสังคมชนบท
▶ เชื้อชาติ พบว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว
ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง
▶ หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัวและถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผนังหัวใจจะยืดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดหัวใจโต และหัวใจวายได้ในที่สุด
▶ ภาวะหลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
▶ เลือดอาจไปเลี้ยงไตไม่พอ ทำให้ไตวายเรื้อรังและภาวะไตวายจะยิ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอีก
▶ หลอดเลือดแดงในตาจะเสื่อมลงอย่างช้าๆ ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อยๆ จนตาบอดได้ อาจมีเลือดที่จอตา