โรคเบาหวานเป็นโรคที่ร่างกายบกพร่องในการผลิตฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินมีความสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และยังช่วยในการนำน้ำตาลไปใช้ในเซลล์เพื่อสร้างเป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งคนปกติหลังทานข้าวจะมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 120-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และมักจะไม่เกินที่ระดับ 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถ้าคนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่านี้ก็จะถือว่าเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน
สาเหตุที่สำคัญของ “เบาหวาน” เกิดขึ้นเนื่องจากเซลล์ในตับอ่อนภายในร่างกายของเรามีการสร้างและหลั่งสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “อินซูลิน” ซึ่งสารนี้มีหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของคนเราให้อยู่ในระดับปกติ แต่เมื่ออินซูลินถูกหลั่งออกมาไม่เพียงพอจะทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของเราสูงเกินกว่าในคนปกติ จึงเป็นผลทำให้เกิดอาการป่วยที่เรียกว่า “เบาหวาน”
เบต้าเซลล์ภายในตับอ่อนมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ในแต่ละครั้งที่รับประทานอาหาร เบต้าเซลล์จะผลิตอินซูลินเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายใช้หรือสะสมน้ำตาลที่ได้รับจากอาหาร
▶ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เนื่องจากกลุ่มเซลล์ดังกล่าวถูกทำลาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องได้รับการฉีดอินซูลินเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลจากอาหารที่รับประทานเข้าไปมาใช้ประโยชน์ได้
▶ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถผลิตอินซูลินได้ แต่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องการยาลดการดื้ออินซูลินหรือการฉีดอินซูลินเพื่อให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลมาใช้ประโยชน์ได้
อินซูลินไม่สามารถรับประทานได้ เนื่องจากจะถูกทำลายระหว่างการย่อยอาหารเช่นเดียวกับโปรตีนในอาหาร
▶ เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นชนิดพึ่งอินซูลิน (IDDM)
เบาหวานชนิดที่ 1 นี้ พบประมาณ 5-10% ของโรคเบาหวานทุกประเภท ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 1 นั้นมีน้อยกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง พันธุกรรม และสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย
▶ เบาหวานชนิดที่ 2 คือชนิดไม่ต้องพึ่งอินซูลิน (NIDDM)
เบาหวานชนิดที่ 2 นี้ พบเป็นจำนวน 90-95% ของจำนวนโรคเบาหวานทุกชนิด ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานประเภทนี้ได้แก่ อายุที่มากขึ้น ความอ้วน บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน ประวัติการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความต้านทานต่อกลูโคสต่ำ ร่างกายไม่เคลื่อนไหว เชื้อชาติ ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
▶ เบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ เกิดขึ้น 2-5% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่พบหลังการคลอดบุตรแล้ว ผู้หญิงที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการพัฒนาที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีงานวิจัยกล่าวไว้ว่า ร้อยละ 40 ของผู้หญิงที่มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะพัฒนาเป็นเบาหวานได้ในอนาคต
อาการหลักๆ ที่สื่อว่าคนๆนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน ได้แก่ รู้สึกหิวบ่อย, กระหายน้ำ, ปัสสาวะมีปริมาณมากและบ่อย อีกทั้งก็ยังมีอาการอื่นๆ ได้แก่
▶ เหนื่อย อ่อนเพลีย
▶ ผิวแห้ง เกิดอาการคันบริเวณผิว
▶ ตาแห้ง
▶ มีอาการชาที่เท้าหรือรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่ปลายเท้าหรือที่เท้า
▶ ร่างกายซูบผอมลงผิดปกติ โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้
▶ เมื่อเกิดบาดแผลที่บริเวณต่างๆ ของร่างกายมักหายช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะแผลที่เกิดกับบริเวณเท้า
▶ สายตาพร่ามัวในแบบที่หาสาเหตุไม่ได้
▶ โรคหัวใจ เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจประมาณ 2-4 เท่าของผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน
▶ ภาวะหัวใจขาดเลือด ความเสี่ยงของโรคภาวะหัวใจขาดเลือดมีจำนวนสูงขึ้น 2-4 เท่าของคนที่เป็นโรคเบาหวาน
▶ ความดันโลหิตสูง ประมาณร้อยละ 60-65 ของคนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
▶ ตาบอด เบาหวานเป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยรายใหม่ที่ตาบอดเนื่องจากโรคเบาหวานในผู้ที่มีอายุ 20-74 ปี
▶ โรคไต เบาหวานเป็นสาเหตุหลักของโรคไตวายระยะสุดท้าย และคิดเป็นร้อยละ 40 ของผู้ป่วยรายใหม่ของโรคไตวายเรื้อรัง
▶ โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท ประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานมักเกิดการทำลายระบบประสาทขั้นปานกลางถึงรุนแรง (รวมถึงประสาทความรู้สึกบกพร่องหรือความเจ็บปวดที่มือหรือเท้า ระบบย่อยอาหารผิดปกติ อาการพังผืดที่ข้อมือ (CTS) และอื่นๆ) โรคทางระบบประสาทจากเบาหวานขั้นรุนแรงเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดเท้าหรือขา
▶ โรคแทรกซ้อนอื่นๆ เบาหวานอาจเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ที่รุนแรงและฉับพลัน เช่น ภาวะการเสียสมดุลของอินซูลิน และ ภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานที่มีการควบคุมดูแลไม่ดีจะมีการติดเชื้อได้ง่าย